พารามิเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดตะกรัน สนิม

30 / Sep / 2024
คุณภาพน้ำทางเคมีกรด-ด่าง (pH)
วัดโดยค่าพีเอช (pH) เกิดจากการแตกตัวให้อนุมูลกรด-ด่าง มีค่าตั้งแต่ 0-14  ค่าพีเอชมากกว่า 7 หมายถึงความเป็นด่าง ค่าพีเอชน้อยกว่า 7 หมายถึงความเป็นกรด น้ำสะอาดจะมีค่าพีเอชเท่ากับ 7  ค่าพีเอชมีผลต่อการเกิดปฏิกิริยาการกัดกร่อนของน้ำ วัตถุประสงค์หลักในการกำหนดเกณฑ์ค่าพีเอช เพื่อลดการกัดกร่อนและการเสื่อมสภาพของท่อจ่ายน้ำ

ค่าการนำไฟฟ้า (Conductivity)
เป็นการวัดความสามารถของน้ำที่จะให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่าน คุณสมบัตินี้ขึ้นอยู่กับความเข้มข้น ชนิดของอิออนที่มีอยู่ในน้ำ และอุณหภูมิที่ทำการวัด โดยน้ำที่มีอิออนของสารต่างๆอยู่สามารถนำไฟฟ้าได้ทั้งนั้น ค่า Conductivity ไม่ได้เป็นค่าเฉพาะของอิออนตัวใดตัวหนึ่ง แต่เป็นค่ารวมของอิออนทั้งหมดในน้ำ ค่านี้ไม่ได้บอกให้ทราบถึงชนิดของสารที่อยู่ในน้ำนั้น บอกแต่เพียงว่ามีการเพิ่มหรือลดของอิออนที่ละลายในน้ำเท่านั้น  กล่าวคือ ถ้าค่า Conductivity เพิ่มขึ้นก็แสดงว่าสารที่แตกตัวในน้ำมีเพิ่มขึ้นหรือถ้าค่า Conductivity ลดลงก็แสดว่าสารที่แตกตัวในน้ำลดลง

ความกระด้าง (Hardness)กรด-ด่าง (pH)
เกิดจากเกลือแคลเซียมและแมกนีเซียมที่ละลายอยู่ในน้ำ ความกระด้างแบ่งเป็น 2 ชนิดคือ 1.ความกระด้างชั่วคราว เกิดจากเกลือไบคาร์บอเนตของธาตุแคลเซียมและแมกนีเซียม แก้ไขได้ด้วยการต้ม 2. ความกระด้างถาวร เกิดจากเกลือคลอไรด์และซัลเฟตของแคลเซียมและแมกนีเซียม ไม่สามารถปรับปรุงด้วยการต้มได้ ความกระด้างมีผลต่อการซักล้างทำให้เปลืองสบู่ ทำให้เกิดตะกอนหม้อต้ม และทำให้มีรสเฝื่อนในระบบน้ำประปา น้ำมีความกระด้างอยู่เล็กน้อยจะเป็นประโยชน์เพราะทำให้ผนังด้านในของท่อไม่ผุกร่อน แต่ถ้าความกระด้างสูงจะทำให้เกิดโทษคือการอุดตันของท่อในระบบหม้อน้ำ ท่อน้ำร้อนอาจจะเกิดการอุดตันและระเบิดได้

ของแข็งทั้งหมดที่ละลายในน้ำ (Total dissolve solid, TDS)
ของแข็งที่ละลายน้ำ คือ สารละลายทั้งหมดที่อยู่ในน้ำหลังจากการระเหยของน้ำที่ได้ผ่านการกรองโดย Millipore filter ที่อุณหภูมิต่ำ ส่วนที่เหลือนี้ประกอบด้วยสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ทุกชนิด ค่า TDS ที่สูงจะมีผลต่อการก่อตัวเป็นตะรันในหม้อไอน้ำ และเกิดการ Carry Over (ไอน้ำชื้นและมีการปนเปื้อน)  การควบคุมค่า TDS ที่เหมาะสมจะช่วยลดปัญหาตะกรันและการอุดตันในท่อน้ำและอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน    ช่วยให้คุณภาพไอน้ำดีขึ้น  และลดค่าใช้จ่ายที่เกินความจำเป็นเนื่องจากการ BlowDown  

คลอไรด์ (Chloride)
พบอยู่ในน้ำตามธรรมชาติทั่วไปด้วยความเข้มข้นต่างๆกัน ปริมาณคลอดไรด์เพิ่มขึ้นมากเป็นสัดส่วนกับปริมาณของเกลือแร่ที่เพิ่มขึ้น น้ำตามภูเขาและที่สูงมักจะมีปริมาณคลอไรด์น้อย ในขณะที่น้ำตามแม่น้ำและน้ำใต้ดินมีปริมาณคลอไรด์มาก เนื่องจากความสามารถในการละลายของน้ำทำให้สามารถละลายคลอไรด์จากชั้นดินต่างๆได้มาก คลอไรด์มักจะละลายน้ำได้ดีทำให้น้ำมีรสกร่อย แต่ไม่มีผลต่อสุขภาพอนามัย

เหล็ก (Iron)
เกิดจากสารประกอบของเหล็กในดิน มีกลิ่นเฉพาะตัวและมีรสที่ไม่พึงประสงค์ เหล็กที่อยู่ในรูปของ Ferric   ละลายน้ำได้น้อยมากหรืออาจพูดได้ว่าไม่ละลายน้ำ แต่ถ้าอยู่ในรูปของ ferrous ก็จะละลายน้ำได้ดีมาก ดังนั้น รูปของเหล็กจึงขึ้นอยู่กับปริมาณของออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำ (เหล็กรวมตัวกับออกซิเจนในปริมาณต่างกันเกิดเป็น Ferric หรือ Ferrous) เหล็กถือว่าเป็นธาตุที่ไม่อันตรายต่อมนุษย์ แต่ทำให้เกิดปัญหากับผู้ใช้น้ำประปา เช่น ทำให้น้ำขุ่น เกิดปัญหาในการซักล้าง ทำให้เกิดคราบสนิมที่สุขภัณฑ์ กำจัดได้ด้วยการกรองหรือตกตะกอน 

Share this post :

widget